ปฏิกิริยาทางจิตใจที่พบบ่อยในคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง
ความวิตกกังวลและเครียด มักพบในช่วงแรกที่เกิดอาการใหม่ ๆ สังเกตได้จากสีหน้าท่าทาง กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ในบางรายที่ปรับตัวไม่ได้อาจจะต้องให้การรักษาควบคู่ไปด้วย
อารมณ์เศร้า เป็นปัญหาทางจิตใจที่พบได้บ่อยที่สุดภายหลังผู้ป่วยเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยจะเกิดได้มากในช่วง 3 เดือนแรกและลดลงภายหลัง 1 ปี ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องได้รับการรักษา
พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง บางรายมีพฤติกรรมแบบก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ร้องไห้บ่อย ท้อแท้ แยกตัวไม่สนใจคนอื่นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ไม่ยอมรักษา คนไข้อาจมีพฤติกรรมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นฐานบุคลิกภาพ และความสามารถในการปรับตัว นอกจากนี้ ลักษณะและความรุนแรงของโรค ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับรู้ และเข้าใจอาการที่เกิดขึ้น
การฟื้นฟูสภาพจิตใจ (สำหรับผู้ป่วย)
- สอบถามถึงอาการป่วย ปัญหาทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้
- สอบถามถึงสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างเดิม และสิ่งที่ยังสามารถทำได้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา และพบแพทย์ตามนัด
- หมั่นออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำ
- เข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัวตามปกติ (หากทำได้)
การช่วยเหลือทางจิตใจผู้ป่วย (สำหรับครอบครัวและญาติ)
- ควรให้ความใส่ใจและให้กำลังใจคนไข้ตามความเป็นจริง และปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและให้การรักษาอย่างถูกต้อง
- เข้าใจกับพฤติกรรและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของคนไข้ ครอบครัวและญาติต้องให้กำลังใจผู้ป่วย
- แสดงออกทางคำพูด สีหน้า สายตา และการสัมผัสต่อผู้ป่วยว่า ครอบครัวยังรักและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยอยู่เสมอ ชมเชยทั้งคำพูด สีหน้า สายตา และการสัมผัสและหลีกเลี่ยงการตำหนิ
- ช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยในการฝึกออกกำลังกาย และส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สามารถทำได้
- กรณีผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาล ญาติควรไปเยี่ยมสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากครอบครัว
- จัดสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน วางเครื่องใช้ในบ้านให้ผู้ป่วยเดินหรือเคลื่อนไหวอย่างสะดวก สามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก
- คนไข้ที่ต่อต้านและปฏิเสธการดูแลจากญาติ ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบบ่อยๆ ให้คนไข้เกิดความรู้สึกว่า ทำอะไรได้เองหลายอย่าง และลดท่าทีต่อต้านเมื่อครอบครัวและญาติเข้ามาช่วยเหลือในบางอย่าง