02-7038912-4, 02-3890853-4, 095-025-1374 (จ - ศ : 13.30-15.30) [email protected]

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน

มารู้จักการเกิดอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง

การเกิดอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุมี 2 กลุ่ม คือ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันกับโรคหลอดเลือดสมองแตก ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง โดยทั่วไปโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันพบได้บ่อยกว่าโรคหลอดเลือดสมองแตกประมาณ 4 เท่า

ทำไมหลอดเลือดสมองอุดตันแล้วจึงเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ?
เมื่อมีการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้สมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง คนไข้จึงมีแขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งขยับไม่ได้ ปากเบี้ยวหรือชาครึ่งซีก หรือเซไปข้างใดข้างหนึ่ง

ทำไมหลอดเลือดสมองจึงแตก
หลอดเลือดสมองแตกมีอยู่ 2 ประเภท คือหลอดเลือดสมองแตกในเนื้อสมอง มักจะเกิดจากการที่หลอดเลือดสมองเปราะ แตกง่าย กับหลอดเลือดสมองแตกที่มีเลือดออกมาในน้ำที่อยู่รอบสมอง มักจะพบในผู้ที่มีหลอดเลือดโป่งพองที่เรียกว่าแอนนูริซึ่ม (Aneurysm)

อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง

อาการที่พบบ่อยและเป็นอาการที่สำคัญ ใช้คำว่า FAST สำหรับเตือนอาการของโรคหลอดเลือดสมอง โดยย่อมาจาก

  • F ย่อจาก Face : ใบหน้า
    ผู้ป่วยมีหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงมีน้ำลายไหลออกจากมุมปาก
  • A ย่อจาก Arm : แขน
    อาการอ่อนแรงของแขน และขา ข้างใดข้างหนึ่ง
  • S ย่อจาก Speech : การพูด
    การพูดผิดปกติ (พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ลิ้นแข็งหรือพูดไม่รู้เรื่อง)
  • T ย่อจาก Time : เวลา
    คือเวลาที่เกิดอาการ เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วก็อาจหายเป็นปกติได้ และควรรีบมาโรงพยาบาลให้ทันภายใน 4.30 ชั่วโมง

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 2-4 เท่า ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เลือดที่ออกมาจากหัวใจมีแรงดันสูงขึ้นทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมเร็ว ขาดความยืดหยุ่น และแตกเปราะง่าย
  2. เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดแข็ง ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและมีการอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ
  3. การมีภาวะอ้วน เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานด้วย การควบคุมค่าดัชนีมวลกาย ( Body mass index ,BMI ) ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ
  4. ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ จากผนังเส้นเลือดแดงไม่ยืดหยุ่น เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อย ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะทำให้สมองขาดเลือด การตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับไขมัน ได้แก่
    – คอเลสเตอรอล (Total Cholesterol) เป็นผลรวมของไขมันคอเลสเตอรอลทั้งดีและไม่ดี แต่คอลเลสเตอรอลรวมที่สูงกว่า 200 มก./ดล. มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
    – ไขมันชนิด แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL หรือ Low Density Lipoprotein Cholesterol) เป็นคอลเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งและหลอดเลือดอุดตัน
    – ไขมันชนิด เอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDLหรือ High Density Lipoprotein Cholesterol) อาจเรียกว่าไขมันดี ไขมัน HDL- Cholesterol เพิ่มขึ้นได้จากการออกกำลังกาย
    – ไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การควบคุมไม่ให้ระดับไตรกลีเซอร์สูงโดยงดอาหารจำพวกแป้งและของหวาน
  5. การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
    – การสูบบุหรี่
    เป็นตัวการที่เร่งให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมองคือทำให้ความข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการหนาตัวของผนังหลอดเลือดแดง
    – การดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าการดื่มในปริมาณมากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองแตก จะทำให้หลอดเลือดปราะ หรือ เลือดออกง่าย
  6. ความเข้มข้นของเลือด ถ้ามีฮีโมโกลบินสูงกว่าปกติ ก็มีโอกาสทำให้ เลือดหนืดรวมตัวเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันทำให้สมองขาดเลือด
  7. การมีโรคหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะ ชนิด Atrial Fibrillation หรือ เอเอฟ (AF) พบว่าการมีเอเอฟ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากขึ้นถึง 5 เท่า โดยจะ มีลิ่มเลือดหลุดจากหัวใจไปอุดตันยังหลอดเลือดสมอง การตรวจเบื้องต้นโดยการจับชีพจร จะพบว่าชีพจรแต่ละครั้งมีความแรงไม่เท่ากันและมีจังหวะไม่สม่ำเสมอถ้าจะให้แน่ชัดต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรืออีเคจี (EKG)
  8. ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด มีฤทธิ์เสริมกับยาที่ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด เมื่อรับประทานร่วมกันอาจทำให้มีเลือดออกได้ง่าย เช่น ยากลุ่มน้ำมันปลา สารที่สกัดจากใบแปะก๊วย สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดร่วมกับเป็นความดันโลหิต
  9. อายุที่มากขึ้น มีความสัมพันธ์ต่อการเสื่อมของหลอดเลือด
  10. การดำเนินชีวิต บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยความเครียด ไม่รู้จักผ่อนคลาย ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงทำให้เจ็บป่วยง่าย กล้ามเนื้อ ข้อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดก็จะเสื่อมเร็วขึ้นด้วย

X

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและให้บริการ ขอนำข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์แบ่งปันกับบุคคลที่สาม รวมถึงโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม สำหรับการประชาสัมพันธ์ โดยการกด “ยอมรับ” ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและคุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า