ที่มาของคำว่า “วอยต้า”
คำว่า “วอยต้า” เป็นชื่อของศาสตราจารย์นายแพทย์วาคลาฟ วอยตา อายุรแพทย์และกุมารแพทย์ระบบประสาทในปี ค.ศ. 1950 นายแพทย์วาคลาฟ วอยตา ท่านได้ค้นพบรากฐานของการบำบัดแบบใหม่ซึ่งเรียกว่า “การเคลื่อนไหวแบบรีเฟล็กซ์” หรือปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ (Reflex Locomotion) ในระหว่างที่ท่านให้การบำบัดรักษาเด็กสมองพิการ (Cerebral Palsy) ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันนี
หลังจากนั้นท่านได้พัฒนาสิ่งที่ค้นพบไปสู่กระบวนการวินิจฉัยความผิดปกติของสมองและการรักษาฟื้นฟูความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกาย กระตุ้นระบบควบคุมการทรงตัว ซึ่งการวินิจฉัยนั้นสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกเกิดและทำการรักษาฟื้นฟูได้ทันที โดยใช้เทคนิคการบำบัดวอยต้า
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ (Reflex Locomotion) คืออะไร
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ (Reflex Locomotion) เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในสมองมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เด็กที่สุขภาพแข็งแรงจะพร้อมนำรูปแบบการเคลื่อนไหวนี้มาใช้ได้เมื่อถึงเวลา มีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัย เคลื่อนไหว พลิกตะแคง คืบ คลาน เดิน ได้โดยไม่ต้องฝึก
ซึ่งปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัตินั้นถูกกระตุ้นให้แสดงออกได้และให้ผลในด้านการควบคุมการทรงตัวโดยอัตโนมัติในขณะเคลื่อนไหว ระบบการค้ำยันดันตัวขึ้นต้านแรงดึงดูดของโลก และการเคลื่อนไหวของแขนขา
การค้ำยันดันตัวขึ้นต้านแรงดึงดูดของโลกนั้น มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทรงตัวท่ายืนแบบใช้กระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้นโลกแตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่นๆ ที่ทรงตัวท่ายืนแบบใช้กระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลก
ความเป็นมนุษย์ พันธุกรรมแบบมนุษย์ นั้นส่งผลให้มนุษย์ยืนเดินสองเท้าแบบมนุษย์ด้วยรูปแบบการเดินที่เหมือนกันทุกคน
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ (Reflex Locomotion) ประกอบด้วย
- ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าพลิกตะแคงตัว (Reflex Rolling)
- ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าคืบ (Reflex Creeping)
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าพลิกตะแคงตัว (Reflex Rolling)
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าพลิกตะแคงตัวสามารถกระตุ้นได้ด้วยเทคนิคการบำบัดวอยต้าให้แสดงการเคลื่อนไหวออกมาได้ ทารกแรกเกิดแม้จะยังไม่สามารถพลิกตัวได้แต่เมื่อได้รับการกระตุ้น เด็กจะแสดงรูปแบบการเคลื่อนไหวท่าพลิกตัวออกมาให้เห็นได้ จะเห็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพลิกตะแคงตัวทั้งชุดทำงาน กล้ามเนื้อทั้งชุดถูกกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวท่าพลิกตะแคงตัว เริ่มจากท่านอนหงายไปสู่ท่านอนตะแคงและจบในท่าคืบคลาน การกระตุ้นทำได้ในท่านอนหงาย (ระยะที่1) และท่านอนตะแคง (ระยะที่2, 3, 4A และ 4B)
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าคืบ (Reflex Creeping)
ปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าคืบ มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ 1.การควบคุมท่าทางของร่างกายที่จำเพาะ 2.การพยุงตัวต้านแรงดึงดูดของโลก และ 3. การก้าวย่างของแขนขาอย่างมีจุดหมาย ท่าเริ่มต้น คือ ท่านอนคว่ำ ศีรษะหันไปด้านข้าง
เมื่อกระตุ้นปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติท่าคืบ กล้ามเนื้อชุดคืบทั้งหมดจะถูกกระตุ้นให้ทำงาน เกิดการเคลื่อนไหวประสานสัมพันธ์กันแบบไขว้หรือตรงกันข้าม (Cross coordination) กล่าวคือ แขนขวากับขาซ้ายสัมพันธ์กันแบบเคลื่อนไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกันแขนซ้ายกับขาขวาสัมพันธ์กันแบบทำหน้าที่ค้ำยัน ส่วนของศีรษะและลำตัวมีระบบควบคุมการทรงท่าเพื่อทรงกระดูกสันหลังตลอดการคืบ ทั้งหมดทำงานประสานสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นการเคลื่อนไหวอัตโนมัติโดยที่เด็กไม่ต้องคิดเลยว่าจะเคลื่อนไหวร่างกายตัวเองอย่างไร
กล้ามเนื้อชุดคืบ คลาน และเดิน เป็นกล้ามเนื้อชุดเดียวกัน กล้ามเนื้อทุกมัดในชุดกล้ามเนื้อนี้จะทำงานสอดประสานสัมพันธ์กันในรูปแบบเดียวกัน ใช้คำสั่งจากสมองชุดเดียวกัน ถ้าเด็กคืบได้ถูกต้องตามรูปแบบก็จะสามารถคลานและเดินได้ถูกต้องตามรูปแบบเช่นกัน
ศาสตร์วอยต้ากับเด็กสมองพิการ
ศาสตร์วอยต้าถูกนำมาใช้บำบัดเด็กสมองพิการครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาเด็ก เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันนี ตั้งแต่ปี 1960 ปัจจุบันมีการใช้ศาสตร์วอยต้าบำบัดเด็กสมองพิการแพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับเด็กสมองพิการเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเด็กสมองพิการนั้นมีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงมีความบกพร่องด้านระบบอัตโนมัติในการควบคุมการทรงตัว
ศาสตร์วอยต้าสามารถตรวจประเมินคัดกรองความผิดปกติของระบบการควบคุมการทรงตัวได้ตั้งแต่แรกเกิด และให้การบำบัดรักษาได้ทันทีซึ่งให้ผลดีมาก การบำบัดวอยต้าจะได้ผลดี ต้องทำวันละ 4 ครั้งโดยผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญ (2)
นักกายภาพบำบัดจะทำการตรวจประเมินพัฒนาการการเคลื่อนไหวของเด็ก โดยไม่ได้มองแค่เพียงว่าเด็กทำได้หรือทำไม่ได้ แต่จะมุ่งเน้นไปที่คุณภาพการเคลื่อนไหวว่าท่าทางการเคลื่อนไหวที่เด็กทำได้นั้นทำได้อย่างไร ถูกต้องตามรูปแบบการเคลื่อนไหวปกติหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในท่านอนหงายเหมือนกันแต่คุณภาพของการทรงตัวและการเคลื่อนไหวนั้นมีความแตกต่างกัน บ่งบอกถึงอายุพัฒนาการที่ต่างกันได้
ภายหลังการประเมินนักกายภาพบำบัดจะให้การบำบัดวอยต้า และสอนท่าการบำบัดที่เหมาะสมให้เป็นการบ้านแก่ผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองกลับไปทำให้บุตรหลานที่บ้าน
การบำบัดวอยต้าจะได้ผลดีนอกจากทำสม่ำเสมอวันละ 4 ครั้งแล้ว การทำบำบัดแต่ละ
ครั้งจะต้องมีความถูกต้องในการจัดท่าเริ่มต้น การหาตำแหน่งกด การวางมือ ทิศทางของการให้แรง ความหนักเบาของแรงกดและการสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ถูกต้อง
การบำบัดวอยต้านี้ส่งผลให้กระตุ้นเกิดการทำงานของกล้ามเนื้อขึ้นเป็นอัตโนมัติ เป็นสิ่งที่ทารกและเด็กเล็กไม่คุ้นเคย มักจะทำให้เด็กร้องไห้และผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กเจ็บ ผู้ปกครองและนักกายภาพบำบัดจึงควรมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน
เด็กสมองพิการที่ได้รับการรักษาด้วยการบำบัดวอยต้าสม่ำเสมอ จะมีระบบอัตโนมัติการควบคุมการทรงตัวที่ดีขึ้นและส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
Reference
- ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (ตุลาคม 2556). การบำบัดเด็กด้วยเทคนิควอยต้า ข้อมูลสำหรับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง(พิมพ์ครั้งที่1) [แผ่นพับ] แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ©องค์กรวอยตาสากล(บรรณาธิการ)
- Wirongrong Y, Naowabut K, Sakuntaniyom C (2017,June). The Effect of Vojta Therapy on Children with Mobility Impairment at Queen Sirikit National Institute of Child Health. Poster presentation at The Vojta-Symposium 2017, Cologne, Germany