02-7038912-4, 02-3890853-4, 095-025-1374 (จ - ศ : 13.30-15.30) [email protected]

ทำความรู้จักเด็กสมองพิการ

ภาวะสมองพิการ Cerebral Palsy

ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral Palsy หมายถึง ความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นในทารกหรือเด็กเล็ก โดยมีสาเหตุมาจากสมองที่กำลังพัฒนาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและท่าทางผิดปกติ เสียหายหรือพัฒนาไม่สมบูรณ์ มีผลทำให้การเคลื่อนไหวร่างกาย การขยับแขนขา ลำตัวใบหน้า ลิ้น รวมถึงการทรงตัวผิดปกติ ซึ่งความผิดปกตินี้จะคงที่และไม่ลุกลามต่อไป

อาการของเด็กสมองพิการอาจมีความรุนแรงมากหรือน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ได้รับความเสียหาย เมื่อเด็กโตขึ้นอาการต่าง ๆ มักจะไม่แย่ลงตามเวลา แต่ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสมและไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้

ปัญหาและความผิดปกติที่อาจเกิดร่วม

  • พิการด้านการเคลื่อนไหวและการเดิน
  • ปัญหาการสื่อสาร ภาษาและการพูด
  • ความบกพร่องทางสติกปัญญาและการเรียนรู้
  • สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น หรืออาจมีอาการตาเหล่ร่วมด้วย
  • โรคลมชัก
  • อารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติ
  • กระดูกสันหลังมีความผิดปกติ
  • มีปัญหามากกว่า1อย่างร่วมกัน

สาเหตุ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแต่ก็มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกได้

ความเสี่ยงตั้งแต่อยู่ในครรภ์

  • ภาวะทารกตัวเล็กในครรภ์
  • น้ำหนักแรกคลอดน้อย
  • มีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคซิฟิลิส การ
  • ติดเชื้อไวรัสซิกา การติดเชื้อไวรัสไซโตเมกะโลโวรัส โรคท็อกโซพลาสโมซิส เป็นต้น
  • มารดาได้รับยา สารพิษระหว่างตั้งครรภ์
  • เด็กในครรภ์มีปัญหาสมองขาดเลือดหรือผิดปกติ
  • สมองเด็กพัฒนาไม่ดีในครรภ์
  • มารดามีโรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ ภาวะเลือดออกง่าย เป็นต้น
  • การกลายพันธุ์หรือความผิดปกติของพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมอง
  • อุบัติเหตุที่ทำให้สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ความเสี่ยงระหว่างคลอด

  • เด็กคลอดก่อนกำหนด
  • มีปัญหาคลอดยาก
  • มีความเสียหายต่อศีรษะหรือกะโหลกศีรษะในระหว่างการคลอด
  • มีภาวะเลือดออกในสมองหรือสมองขาดออกซิเจนในช่วงแรกเกิด

ปัจจัยเสี่ยงหลังคลอด

  • มีการบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง
  • ติดเชื้อของสมองภายหลังคลอด
  • ภาวะตัวเหลือง
  • โรคทางพันธุกรรม

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

  • การตั้งครรภ์ทารกแฝด หรือมีทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
  • มารดาตั้งครรภ์ขณะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
  • หมู่เลือดอาร์เอชของมารดาและทารกไม่ตรงกัน

ประเภทเด็กสมองพิการ

Spastic CP เป็นประเภทที่พบได้มากที่สุดร้อยละ70 – 80ของเด็กสมองพิการทั้งหมด จะมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะแขนหรือขา อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งลำตัว มีลักษณะท่าทางที่ผิดปกติของร่างกายปรากฏให้เห็น ได้หลายแบบ คือ

  • Hemiplegia คือมีลำตัวและแขนขาเกร็งครึ่งซีก
  • Diplegia คือ ขามีอาการเกร็งมากกว่าแขนมากอย่างเห็นได้ชัด
  • Quadriplegia คือ แขนและขาทั้งสองข้าง อาการเกร็งมาก
  • อื่น ๆ เช่น Monoplegia, Paraplegia, Triplegia พบน้อยมาก

Athetoid CP พบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของของเด็กสมองพิการทั้งหมด อาการกล้ามเนื้อแข็งตึงหรืออ่อนแรงสลับกันไปมาเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้มีอาการชักหรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ มีการเคลื่อนไหวมากที่มือและเท้า บางรายอาจมีคอเอียง ปากเบี้ยวร่วมด้วย
Ataxic CP พบได้น้อย มีปัญหาในการทรงตัว สมดุลร่างกาย และการประสานงานของระบบต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีอาการสั่นร่วมด้วย มีปัญหาในการทรงตัว สมดุลร่างกาย และการประสานงานของระบบต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีอาการสั่นร่วมด้วย
Mixed CP มีลักษณะสมองพิการมากกว่า 1 ชนิดเกิดขึ้นร่วมกัน

สัญญาณของสมองพิการในทารกหรือเด็กวัยหัดเดิน

  • มีทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อความล่าช้า เช่น การเงยหน้าขึ้น การพลิกตัว การนั่ง
  • คลานและการเดิน
  • มีส่วนของร่างกายที่แข็งหรือห้อยเกินไป
  • ชอบใช้ร่างกายส่วนเดียว
  • ใช้การถลาที่พื้นแทนการคลาน
  • ไม่สามารถยืนได้ถึงแม้ว่าจะได้รับการช่วย

การวินิจฉัยภาวะสมองพิการ

แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากการซักประวัติ ประเมินอาการ ตรวจร่างกาย ถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างคลอดหรือหลังคลอด การวินิจฉัยจะทำได้ยากในเด็กอายุน้อยกว่า6เดือน ส่วนมากจะทำได้ช่วงอายุ 1-2 ปีขึ้นไปเพราะเริ่มเห็นความผิดปกติชัดเจน และอาจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การสแกนสมอง เพื่อตรวจและประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสมอง โดยอาจตรวจด้วยการสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การอัลตราซาวด์ศีรษะ และหากเด็กมีอาการชัก แพทย์อาจตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองร่วมด้วย
  • การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม กระบวนการทำงานของร่างกาย หรือตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกับโรคสมองพิการ
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจความผิดปกติทางการมองเห็น การได้ยิน การพูด หรือการเคลื่อนไหว ตรวจความบกพร่องทางสติปัญญา รวมถึงพัฒนาการที่ล่าช้าด้านอื่น ๆ เป็นต้น

แนวทางการบำบัดฟื้นฟู

เด็กสมองพิการมักจะมีปัญหาร่างกายหลายระบบร่วมกัน ดังนั้นการักษาจึงต้องอาศัยทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาดูแลรักษา โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนและกระตุ้นพัฒนาการและศักยภาพของเด็กสมองพิการให้ได้สูงสุด สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • กายภาพบำบัด
  • กิจกรรมบำบัด
  • อรรถบำบัด
  • นันทนาการบำบัด
  • การปรับปรุงวิธีรับประทานอาหาร
  • การรักษาด้วยยา
  • การผ่าตัด
  • การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เสริมร่วมกับการรักษา
X

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและให้บริการ ขอนำข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์แบ่งปันกับบุคคลที่สาม รวมถึงโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม สำหรับการประชาสัมพันธ์ โดยการกด “ยอมรับ” ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและคุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า