ควรมีการหมุนเวียนผู้ดูแล ไม่ควรกำหนดว่าเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว ทั้งนี้อาจกำหนดว่าใครจะเป็นผู้ดูแลหลักในเรื่องใด การต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานอาจเกิดความเหนื่อยล้าและความเครียด
พาคนไข้มาพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้องและครบถ้วน หากมีอาการผิดปกติให้มาพบแพทย์ก่อนวันนัด เช่น แขนขาอ่อนแรง หรือชามากขึ้น ง่วงซึม สับสนมากขึ้น พูดไม่ได้ ไม่เข้าใจคำพูดมากขึ้น มีใข้ ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น
กรณีที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้านและหากมีปัญหาในการดูแลผู้ป่วยควรปรึกษาทีมสุขภาพ ให้ติดต่อสถานบริการใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือศูนย์บริการสาธารณสุขตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย
คนไข้ที่อาการรุนแรงไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีการดูแลพิเศษอย่างไร
การดูแลคนไข้ที่ใส่สายให้อาหารทางจมูกหรือทางหน้าท้อง ในรายมีปัญหาการกลืนจึงต้องให้อาหารทางสายยางแทนการรับประทานอาหารทางปาก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ
การดูแลคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ (ท่อหลอดลมคอ) ผู้ดูแลจำเป็นต้องได้รับการสอน เรียนรู้และฝึกทักษะเกี่ยวกับวิธีการดูแลท่อหลอดลมคอ ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์การดูดเสมหะ การดูดเสมหะ การดูแลทำแผล การสังเกตอาการผิดปกติ ตลอดจนการดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
การป้องกันแผลกดทับ แผลกดทับเกิดจากการถูกกดทับเป็นเวลานานทำให้มีการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อจากการขาดเลือด แผลกดทับมักจะเกิดบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก เช่น บริเวณกระดูกก้นกบ กระดูกสะโพก ตาตุ่ม วิธีป้องกันสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง ในท่าตะแคงซ้าย ตะแคงขวา สลับกัน หรือใช้ที่นอนลมช่วย หรืออาจใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นรองบริเวณปุ่มกระดูกของผู้ป่วย
การทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันไหล่ติด ไหล่ตก หรือข้อ กล้ามเนื้อและเอ็นหดยึด โดยผู้ดูแลคอยช่วยยกแขนข้างที่อ่อนแรงโดยเหยียดและงอแขนขาทุกข้อ ควรเคลื่อนไหวข้อต่าง ๆ ให้สุดองศาของการเคลื่อนไหวปกติ ควรให้มีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ในแต่ละวัน จะเป็นการช่วยลดการบวมของมือและเท้า ป้องกันหลอดเลือดดำอุดตัน
คนไข้พอช่วยเหลือตนเองได้ ควรดูแลอย่างไร
การทำกายภาพบำบัด ฝึกการยืน เดิน การทรงตัว ควรระวังไม่ให้เกิดการหกล้ม เพราะคนไข้จะมีแขนขาอ่อนแรงแบบครึ่งซีกข้างใดข้างหนึ่ง ทำการฟื้นฟูโดยขยับข้อต่าง ๆ ทั้งแขนและขาข้างที่อ่อนแรง คนไข้สามารถทำเองได้โดยใช้แขนและขาข้างที่ดีมาช่วยหรือให้ญาติทำให้ และควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้มือ แขน ขาข้างที่อ่อนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองให้มากที่สุด เท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว หวีผม รับประทานอาหารด้วยตนเอง การลุกนั่ง การทำความสะอาดหลังขับถ่าย โดยญาติคอยช่วยเหลือเป็นกรณีไป การกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นได้เร็วขึ้น
ให้กำลังใจ อธิบายให้คนไข้เข้าใจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและพยายามที่จะฟื้นฟูตนเองให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
กระตุ้นคนไข้ไม่ให้ลืมร่างกายข้างที่อ่อนแรง บางคนมีปัญหาเรื่องความสนใจบกพร่องครึ่งซีก ส่วนใหญ่มักเป็นซีกซ้ายและมักพบในระยะเฉียบพลัน สังเกตได้จากการทำกิจวัตรประจำวันหรือการรับประทานอาหาร เช่นใส่เสื้อข้างเดียว ไม่ค่อยขยับแขนขาข้างที่อ่อนแรงทั้งที่อ่อนแรงไม่มาก การฟื้นฟูโดยการเข้าช่วยเหลือ เข้าไปคุย การจัดวางอุปกรณ์เครื่องใช้ รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไว้ด้านที่ละเลย เช่น จัดตำแหน่งของเตียงให้ด้านที่ละเลยอยู่ด้านนอก กระตุ้นการมองด้วยการผูกริบบิ้นสีสด ๆ หรือการจัดหารูปภาพที่ชื่นชอบเพื่อให้คนไข้มอง
กระตุ้นการรับรู้ บุคคล วัน เวลา สถานที่ และสังคม โดยจัดให้มีนาฬิกา ปฏิทิน รูปภาพ โทรทัศน์ ให้ผู้ป่วยดู ญาติหรือผู้ดูแลช่วยบอก
ถาม พูดคุย ในช่วงแรกคนไข้อาจรู้สึกกังวลกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ขาดความมั่นใจ ดังนั้นกระตุ้นให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยนอนอยู่แต่บนเตียง เช่น พาผู้ป่วยไปเดินเล่น ออกนอกบ้านไปสถานที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม