คนไข้บางรายมีปัญหาการพูดและความเข้าใจภาษา มักเกิดจากสมองซีกซ้าย ส่วนที่ควบคุมการพูดและภาษา ทำให้ฟังคำพูดไม่เข้าใจ พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำบอกของผู้อื่นได้ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ ผู้ดูแลควรพยายามสื่อสารด้วยถ้อยคำที่สั้นกระชับ ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายและหากคนไข้ไม่เข้าใจอาจใช้ท่าทางต่าง ๆ การชี้รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ที่สื่อความต้องการแทนคำพูด ในคนไข้ที่มีปัญหาการพูด ควรเริ่มต้นสื่อสารด้วยคำง่าย ๆ เช่น ใช่/ไม่ใช่ เอา/ไม่เอา และฝึกพูดคำที่ใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน
คนไข้ที่มีปัญหาการสื่อสาร ผู้ดูแลไม่ควรหงุดหงิด ควรทำความเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย ใจเย็นและอดทนที่จะช่วยเหลือ ทั้งนี้การฝึกพูดและความเข้าใจภาษาจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้ผลดี
วิธีสื่อสารกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- หันหน้าเข้าหาคนไข้เมื่อต้องการจะพูดด้วย ไม่ทำกิจกรรมอื่น ร่วมด้วย เช่น เปิดวิทยุ โทรทัศน์ พร้อมกัน
- พูดด้วยคำง่ายๆ และพูดช้าๆ ชัดๆ กระตุ้นให้คนไข้ตอบ เช่น ใช่ / ไม่ใช่
- ถ้าจำเป็นให้ใช้ท่าทาง หรือภาษามือช่วยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
- เวลาตอบคำถามต้องให้เวลา ไม่พูดหรือตอบแทนคนไข้
- กระตุ้นให้คนไข้ร่วมวงสนทนาถ้าพอทำได้
- พูดกับคนไข้ด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ตะโกน ไม่ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกมีปมด้อย
- การกระตุ้นและชมเชยจะช่วยให้คนไข้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น