
การมีสุขภาพที่นั้นเริ่มจากการให้ความสำคัญในเรื่องของสัดส่วนร่างกายที่เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐานตามช่วงวัย ซึ่งจะนำไปสู่การมีภาวะโภชนาการที่ดี โดยตัวชี้วัดสุขภาพร่างกายเพื่อให้ทราบถึงความต้องการพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับตามสัดส่วน แบ่งตามช่วงวัยดังนี้
วัยเด็กอายุแรกเกิด – 5 ขวบ จะใช้วิธีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และเส้นรอบศรีษะ เนื่องจากในวัยนี้มีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว เช่นเดียวกับเด็กในวัย 6-18 ปีจะใช้ตัวชี้วัดน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง และต้องนำไปเทียบกับกราฟแสดงการเจริญเติบโตที่แบ่งตามเพศ เพื่อดูพัฒนาการด้านร่างกายและสามารถกำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม
วัยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะใช้เครื่องมือที่เป็นตัวชี้วัดสุขภาพร่างกายให้ได้สัดส่วนเหมาะสม ได้แก่
ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เป็นตัวชี้วัดน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร²)
ตัวอย่าง เพศหญิงน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร มีภาวะน้ำตัวตัวอยู่ในเกณฑ์
ดัชนีมวลกาย = 50 ÷ 1.60² = 19.53 กิโลกรัม/เมตร²
ภาวะน้ำหนักตัว | ค่าดัชนีมวลกายที่คำนวณได้ |
ผอม | < 18.5 |
ปกติ | 18.5 – 22.9 |
ภาวะน้ำหนักเกิน | 23.0 – 24.9 |
อ้วนขั้น 1 | 25.0 – 29.9 |
อ้วนขั้น 2 | 30.0 – 39.9 |
อ้วนอันตราย | > 40 |
การหาน้ำหนักที่ควรจะเป็น (Ideal Body Weight, IBW)
เป็นการหาน้ำหนักที่ควรจะเป็นโดยใช่สัดส่วนของส่วนสูงเป็นตัวตั้ง ให้ทราบถึงน้ำหนักตัวในปัจจุบันมากหรือน้อยกว่า เพื่อจะได้จัดสัดส่วนพลังงานและสารอาหาร ให้เหมาะสม
วิธีการ
น้ำหนักในอุดมคติ เพศชาย ส่วนสูง (ซม.) – 100 เพศหญิง ส่วนสูง (ซม.) – 105
ตัวอย่าง เพศหญิง ส่วนสูง 160 เซนติเมตร น้ำหนักปัจจุบัน 50 กิโลกรัม
น้ำหนักที่ควรจะเป็น = 160 – 105 = 55 กิโลกรัม
การวัดเส้นรอบเอว เป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงในวัยผู้ใหญ่ที่นำไปสู่สาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
โดยการวัดเส้นรอบเอวจะวัดผ่านบริเวณสะดือ ให้สายวัดขนานกับพื้น
เพศ | เส้นรอบเอว (เกินมาตรฐาน) |
ชาย | ตั้งแต่ 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว ขึ้นไป |
หญิง | ตั้งแต่ 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้ว ขึ้นไป |
ความต้องการพลังงานและสารอาหาร ในวัยผู้ใหญ่อายุ 18 ปี ขึ้นไป
จะคำนวณจากสัดส่วนร่างกายที่เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยวิธีการหาพลังงานจะมีหลากหลายวิธีที่แตกต่างกันและผลลัพธ์มักจะใกล้เคียงกัน คือ
ผู้หญิง พลังงานที่แนะนำ 1,400 – 1,500 กิโลแคลอรีต่อวัน
ผู้ชาย พลังงานที่แนะนำ 1,600 – 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน
**หากมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ให้ลดพลังงานที่ควรได้รับลงประมาณ 500 แคลอรีต่อวัน